“สอนลูกจับปลา ไม่ใช่จับปลาให้ลูก” เพื่อให้เขามีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต


วัยรุ่นคนหนึ่งขอเงินแม่ไปเที่ยว แม่บอกว่า…“ลูกรู้ไหมว่าสมัยแม่อายุเท่าลูก ไม่เคยเที่ยวที่ไหน ต้องทำงานทุกอย่าง พับถุงกระดาษขาย ตัดใบตองให้แม่ค้า เงินทองหายาก แต่ละบาทแต่ละสตางค์ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ จะไปเที่ยวอย่างนี้ไม่ได้…”
เด็กฟังแม่เงียบๆ
“ลูกต้องรู้จักความลำบาก
ไม่งั้นอีกหน่อยเกิดตกยากแล้วจะทำยังไง
ขึ้นรถเมล์ก็ไม่เป็น ใช้เงินอย่างนี้
จะเอาตัวรอดได้ยังไง…”   เมื่อแม่เทศน์จบ ก็ควักเงินยื่นให้ลูก
สอนลูกจับปลา ไม่ใช่จับปลาให้ลูก
.
นี่ไม่ใช่เรื่องแต่ง พ่อแม่จำนวนมากทำอย่างนี้
เมื่อลูกขอเงินไปเที่ยว จะเทศน์ลูกหลายกัณฑ์
เล่าย้อนไปถึงชีวิตลำบากของตนในวัยเท่ากัน
แล้วลงท้ายให้เงินลูกไป!
.
คนหาเช้ากินค่ำ สมัยก่อนไม่มีคำว่า “มรดก” ในพจนานุกรมชีวิต
ทุกอย่างในชีวิตต้องหามาเองด้วยสองมือ
ทว่าคนรุ่นนี้เมื่อลืมตาอ้าปากได้และเป็นพ่อแม่
มักจะทำให้ลูกเสียคนโดยไม่ตั้งใจ
พ่อแม่จำนวนมากเก็บเงินเก็บทองไว้โดยไม่ยอมใช้
บอกว่า “เก็บไว้ให้ลูก”
.
เหตุผลอาจเพราะ พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกผ่านความลำบากเหมือนตัวเอง
การให้ทุกอย่างแก่ลูกเหมือนสะท้อนสิ่งที่ตัวเองอยากได้ในวัยเด็ก
แต่มันกลับสร้างนิสัยที่ไม่สู้งานหนักไปโดยปริยาย
ไม่มีเงินเป็นปัญหา มีเงินก็เป็นปัญหา!
.
บางครั้งและบ่อยครั้งการมีเงินมากอาจทำให้เลี้ยงลูกยากขึ้น
เงินก็เหมือนคอเลสเตอรอล น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็อันตราย
สอนลูกจับปลา ไม่ใช่จับปลาให้ลูก
.
ในสังคมบูชาคนรวยและการรวยทางลัด การอบรมสั่งสอนเด็ก
เดี๋ยวนี้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสิ่งเร้ารอบตัว
ทางเดียวที่จะให้เด็กโตขึ้นแล้วยืนด้วยตัวเองได้
คือต้องสอนเรื่องวินัยการใช้เงิน
ไม่พอกพูนด้วยคอเลสเตอรอลแห่งวัตถุนิยมมากเกินไปจนเด็กอ่อนแอ
.
พ่อแม่ต้องมองภาพกว้างและมองให้ออกว่า
หากให้มากเกินไปจะทำให้ลูกอ่อนแอหรือไม่
ทำอะไรไม่เป็นเลยหรือเปล่า ความรักย่อมเป็นเรื่องดี แต่ต้องรักให้ถูกวิธีด้วย
.
คนรวยที่ฉลาด รู้ว่า…
การได้เงินเป็นเรื่องง่ายกว่าการสูญเสียเงิน
และคนที่ไม่รู้จักหาเงินมักเสียเงินได้ง่ายกว่า
.
คนที่รวยจากสมบัติที่ได้มาง่ายๆ จากมรดกอาจจะขาดความรู้สึกดีๆ ของการสร้างตัวด้วยมือตัวเอง
มีตัวอย่างจริงไม่น้อย ที่คนรวยแบ่งสมบัติครึ่งหนึ่ง
ให้องค์กรการกุศลและที่เหลือให้ลูกหลาน เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะยืนด้วยตัวเอง
มหาเศรษฐีลำดับต้นๆ ของโลก วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า…
ลูกๆ ของเขาจะต้องแผ้วถางทางของพวกเขาเอง
แน่นอนลูกๆ ของเขาก็รู้ว่าเขารอช่วยทุกอย่าง แต่ก็ต้องลงแรงทำงาน
สอนลูกจับปลา ไม่ใช่จับปลาให้ลูก
.
บัฟเฟตต์ เชื่อว่า….
การให้เงินทองแก่ลูกหลานด้วยจำนวนที่มากพอสบายทั้งชีวิต
“เพียงเพราะพวกเขาออกมาจากมดลูกที่ถูกต้อง”
เป็นเรื่องอันตราย เพราะการให้อาจทำร้ายลูก
บัฟเฟตต์จึงให้มรดกแก่ลูกหลาน
“มากพอที่พวกเขารู้สึกว่าสามารถทำอะไรก็ได้
แต่ไม่มากพอที่พวกเขาไม่ต้องทำอะไรเลย”
.
เราต้องสอนเด็กค่านิยมชื่นชมบุคคลที่สร้างตนเองจากศูนย์
หาเงินอย่างสุจริต รู้คุณค่าของการทำงาน การสร้างตัว ไม่กลัวงานหนัก
สิ่งที่ควรให้ลูกมากกว่าเงินก็คือความเอาใจใส่ รับรู้กิจกรรมที่ลูกทำ
เป็นเพื่อนกับลูก นี่อาจเป็นสิ่งที่มีค่ากว่าการให้เงินอย่างเดียว
และตามสุภาษิตจีนที่ว่า…
“ สอนลูกจับปลา ไม่ใช่จับปลาให้ลูก ”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก  : วินทร์ เลียววาริณ, Lek Katejaroen
Previous Post Next Post